ส่งต่อให้เพื่อน |
วัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเมือง วัดมงคลบพิตร เป็นวัดโบราณสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่ตั้งของวัดมงคลบพิตรและพระราชวังโบราณตั้งอยู่ติดกัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมเข้ามานมัสการหลวงพ่อมงคลบพิตรก่อนจะเข้าชมพระราชวังโบราณ |
|||||||||||||||||||||||
วัดมงคลบพิตรสันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตามพงศาวดารวิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของ พระราชวังหลวง บางคนสันนิษฐานว่า เคยประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียงมาก่อน ในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ชลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ โดยมีหลักฐานจากภาพวาดของชาวตะวันตกที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นรูปร่างคล้ายๆมณฑป ต่อมาในปี พ.ศ. 2246 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ กระทั่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก ในปี พ.ศ. 2474 สมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ตำแหน่งสุมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา คุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวก ได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมวิหาร แต่รัฐบาลไม่อนุญาต เนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดี โดยจะออกแบบให้ปูชนียสถานกลางแจ้งเหมือนไดบุซึของญี่ปุ่น แต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้พบพระพุทธรุปบรรจุไว้ในพระพาหา (แขน) เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวามีสังฆาฏิพาดเหนือพระอังสาซ้าย ชายยาวลงมาจรดพระนาภี ภายในองค์ก่ออิฐเป็นแกนแล้วบุด้วยทองสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์พระไม่รวมฐานบัว12.45 เมตร ส่วนฐานบัวสูง 4.50 เมตร พระเศียรวัดโดยรอบตรงบริเวณเหนือพระกรรณ 7.25 เมตร พระพักตร์กว้าง 2.32 เมตร บัวหงายระหว่างพระรัศมีกับพระเกศาเมาลีสูง 43 เซ็นติเมตร พระรัศมีเหนือบัวหงายสูง 1.30 เมตร พระกรรณยาวข้างละ 1.81 เมตร พระเนตรยาวข้างละ 1.05 เมตร พระนาสิกยาว 1.20 เมตร พระโอษฐ์ยาว 1.16 เมตร และเป็นพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่องค์เดียวในประเทศไทย สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ภายในวิหารมงคลบพิตร บริเวณทางด้านหน้าวิหารวัดพระมงคลบพิตร มีร้านค้าตั้งเรียงรายมากมายหลายร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองแทบทุกชนิดเช่น ปลาตะเพียน เครื่องจักสานเครื่องหวาย มีดอรัญญิก ผลไม้กวน และขนมชนิดต่าง ๆ เหมาะสำหรับผู้สนใจซื้อสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่าง ๆ ผ่านมาอยุธยา อย่าลืมแวะมานมัสการพระมงคลบพิตรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การเดินทาง แผนที่ |