ส่งต่อให้เพื่อน |
พิพิธภัณฑ์เรือไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จากความรักกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เรือไทย แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรือไทยเมื่อครั้งวันวาน |
||||||||||||||||||
"ผมเริ่มทำเรือจำลองตั้งแต่สมัยเริ่มรับราชการแรกทีเดียวทำให้โรงเรียน สอนเด็กไปด้วย ตอนหลังมาคิดว่าจะเกษียณพ้นหน้าที่ราชการและคนที่จะรัก และหวงแหนผลงานจะหายาก เลยคิดเสียสละขายนาปลูกบ้านให้เรืออยู่" เป็นคำกล่าวของอาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา ที่น่าจะอธิบายถึงความเป็นมา และความรู้สึกที่มีต่อ "เรือ" ได้เป็นอย่างดี อาจารย์ไพทูรย์ ขาวมาลา เจ้าของและผู้สร้างพิพิธภัณฑ์เรือไทย กับความผูกพันธ์ในวิชาชีพที่เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาวาดเขียน การเขียนแบบ และการต่อเรือจากโรงเรียนช่างต่อเรือ ด้วยความรักในเรือ ความผูกพันธ์กับสายน้ำตามภาษาคนอยุธยาในอดีต ด้วยความเป็นครูมาตลอดชีวิต กับวิถีชีวิตและการคมนาคมที่มีการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ไพทูรย์มองว่าภาพเรือที่เคยล่องลอยในน้ำจะค่อยๆเลื่อนหายไป นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์อยากสร้างแหล่งเรียนรู้ และศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเรือต่างๆ สำหรับเยาวชนและคนทั่วไป เพื่อให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา อารยธรรมและวัฒนธรรมไทยเมื่อยุคสมัยที่ผ่านมา จากความรักกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เรือไทย แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรือไทยเมื่อครั้งวันวาน กับ "เรือ"ที่ครั้งหนึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพาหนะที่นิยมไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง หรือการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะชาวอยุธยา ใครมีบ้านใกล้แม่น้ำหรือลำคลองถือได้ว่ามีบ้านอยู่ในทำเลที่ดี ถ้าเปรียบกับยุคปัจจุบันก็คงใกล้ถนนใหญ่ประมาณนั้น ซึ่งในอดีตนั้นผู้คนจะอาศัยแม่น้ำลำคลองในการสัญจรไปมา ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนมีการพัฒนาการขนส่งทางบกมากขึ้น ภาพการเดินทางทางน้ำ และเรือก็ค่อยๆเลือนหายไป และเมื่อการใช้เรือในการสัญจรเริ่มลดลงอีกทั้งไม้ที่ใช้สำหรับการต่อเรือนับวันก็จะน้อยลงๆ ทำให้อาจารย์ ไพทูรย์ ต้องการที่จะอนุรักษ์เรือไทยโบราณให้รุ่นหลังได้รู้จักและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนๆ กับเรือชนิดต่างใช้ในการสัญจรไปมา จึงได้เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เรือไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยใช้พื้นที่บ้านตนเองเป็นที่ตั้งของเรือชนิดต่างๆที่ได้เก็บสะสมไว้ จนกลายเป็นพิพิธภัณท์เรือไทยแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ไงหล่ะครับ ในส่วนพื้นที่จัดแสดงส่วนที่หนึ่งเป็นอาคารเรือโบราณ จัดแสดงเรือโบราณ ซึ่งเคยใช้งานจริงในอดีต บางลำมีอายุกว่าร้อยปี อย่างเรือเรือชะล่าไม้สัก ยาว 8.5 เมตร เรือมาดประทุน เรือมาดเก๋ง ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น เรือหมู เรือพายม้า เรือขุดที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม เรือบดเกล็ด ซึ่งเป็นเรือที่เป็นของรางวัลที่หนึ่งจากงานประจำปีของอยุธยาในอดีต เรือโปงตาล ซึ่งขุดมาจากต้นตาลทั้งต้น แค่เห็นขนาดของเรือขุดลำใหญ่ๆปุ๊ปก็เห็นภาพเลยว่า มันมาจากต้นไม้ต้นใหญ่มากมาก ว่าแต่เดี๋ยวนี้จะไปหาที่ไหนได้หล่ะครับ? ส่วนที่สองอาคารทรงไทยทำด้วยไม้สักทอง จัดแสดงเรือจำลองประเภทต่างๆ จากฝีมือของอาจารย์ไพฑูรย์ ได้แก่ เรือพระราชพิธีจำลอง เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นต้น น่าเสียดายว่าในส่วนของพื้นที่จัดแสดงส่วนนี้ ทางพิพิธภัณท์ไม่อนุญาติให้ถ่ายรูปนะครับ คงเล่าให้ฟังได้แค่ว่าเรือพระราชพิธี และเรือพระที่นั่งจำลองฝีมืออาจารย์นั้น สวยงาม ลวดลายต่างๆ เรียกได้ว่าถอดแบบมาจากของจริงได้เป๊ะมาก นี้ขนาดเป็นเรือจำลองเล็กๆยังสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ได้เลย ถ้าเป็นของจริงๆตัวเป็นๆจะขนาดไหน? นอกจากนี้ภายในห้องแสดงนี้จะมีภาพพระราชทานจากในหลวงที่กำลังทรงสร้างเรือด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังมี เรือสำเภาประเภทต่างๆ เรือเมล์ เรือยนต์ และเรือพื้นบ้านจำลองของไทยทุกประเภท ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการต่อเรือในอดีตเช่น ขวาน ผึ่ง สว่าน โฉเฉ เลื่อยลันดา และเลื่อยช้อน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เป็นเครื่องมือจริงๆ ไม่มีการไฟแต่อย่างใด และส่วนสุดท้ายบริเวณภายนอกอาคาร ซึ่งจัดแสดงเรือขนาดใหญ่ กลางแจ้ง เช่น เรือกระแชงต่อด้วยไม้สัก เป็นเรือซึ่งใช้บรรทุกข้าวเปลือก เรือเครื่องเทศ หรือเรือข้างกระดาน ซึ่งได้รับบริจาคมาจากครอบครัว “พุฒตาล” เป็นเรือซึ่งใช้ค้าขายเครื่องเทศ ของใช้ เครื่องครัวประเภทต่างๆ เคยใช้ขึ้นล่องไปค้าขายมากกว่า สิบจังหวัด เรือสุวรรณวิจิก( จำลอง) ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ความยาวมากกว่า สิบสองเมตร ที่ใช้ในการถ่ายสารคดี “เสด็จประพาสต้น”ของพระพุทธเจ้าหลวง และเรือยนต์ “ไพฑูรย์รัตนาวา” ซึ่งออกแบบและต่อขึ้นเองโดยอาจารย์ไพฑูรย์ เมื่อสี่สิบปีก่อน สำหรับครอบครัว ขาวมาลา ใช้เดินทางจากบ้านเดิมที่ริมแม่น้ำลพบุรีเพื่อมาสอนหนังสือในเกาะเมืองที่โรงเรียนช่างต่อเรือ คงเห็นจะได้ประมาณแค่นี้....หากใครสนใจจะมาเที่ยวชมไม่ว่าจะเพื่อความเพลิดเพลิน หรือองค์ความรู้ แนะนำให้มากันเป็นหมู่คณะจะเหมาะที่สุด ซักประมาณ 10-15 ท่านน่าจะเหมาะ และควรโทรไปล่วงหน้า 5-7 วันเพื่อความชัวร์ เพื่อความสะดวกในการเครียมการสถานที่ และจะมีวิทยากรการนำชมบรรยายนะครับ ติดต่อได้ที่โทร. 035-241-195 คุณกนก 081-817-0567 ส่วนค่าเข้าชมสำหรับพิพิธภัณท์นี้แล้วแต่จะบริจาคนะครับ
การเดินทาง ใช้เส้นทางเข้าเมืองจากถนนโรจนะ ข้ามแม่น้ำป่าสักที่สะพานสมเด็จพระนเรศวร ตรงถึงสี่แยกที่สองให้เลี้ยวขวา ปั้มน้ำมัน ปตท.จะอยู่ทางขวา. เข้าสู่ถนนชีกุน วิ่งตรงผ่านสามแยกองค์การโทรศํพท์ ให้เลี้ยวขวาที่แยกนี้ เข้าสู่ถนนหอรัตนไชย ตรงไปอีกประมาณสองร้อยเมตร มองทางด้านขวาจะเห็นป้ายพิพิธภัณฑ์เรือไทย พิกัดดาวเทียม N 14.356844, E 100.571315 แผนที่ |