ส่งต่อให้เพื่อน |
คุ้มขุนแผน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา เรือนไทยโบราณนั้นปัจจุบันนั้นหาดูได้ยากจริงๆ บรรยากาศภายในบ้านนั้นดูขลังดีแท้ |
|||||||||||||||||
มาอยุธยา มาเที่ยวชมวัดชมวังแล้ว...หากไม่ได้มาเที่ยวชมดูบ้านเรือนไทยแล้วก็คงจะกะไรอยู่ เพราะถ้าจะว่าไปแล้วมีการเปรียบเปรยและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วว่า ความงดงามทางศิลปของคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของวัด วัง และบ้านเรือนในสมัยก่อนนั้นงดงามดังสวรรค์ คือคงสวยงามมากนั้นแหล่ะครับ และอย่างที่บอกละครับว่าถ้าเคยเห็นวัง ไปเที่ยววัด แล้วไม่ได้มาเที่ยวดูเรือนไทยโบราณแล้ว บอกได้เลยว่ามันเหมือนขาดอะไรไปอย่างจริงๆ "คุ้มขุนแผน" เป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ แต่เดิมนั้นเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2437 ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปีพ.ศ. 2483 ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างขึ้นบริเวณนี้พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ.2499 และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่าคุ้มขุนแผน ซึ่งบริเวณที่ตั้งคุ้มขุนแผนในปัจจุบันนี้ แต่เดิมคือที่ตั้งของคุกหลวงในสมัยอยุธยา ซึ่งระบุในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า คุกหลวงนั้นตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองใกล้กับวัดเกษ ตะแลงแกง และที่ปลูกพระเมรุมาศ โดยตัวคุกหลวงจะตั้งอยู่บนเกาะกลางคลองนครบาล คุ้มขุนแผน เป็นเรือนไทยทรงโบราณ มีอยู่ 5 หลัง อยู่กลางเกาะทางด้านใต้วิหารพระมงคลบพิตร หันหน้าสู่ถนนศรีสรรเพชญ์ และถนนป่าตอง สร้างไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เห็น และศึกษารูปบ้านไทยสมัยโบราณ ทั้งจะเห็นว่าสมัยก่อนนั้นจัดบ้านอยู่กันอย่างไร ซึ่งนับวันรูปบ้านไทยโบราณนั้นแทบจะหาดูได้ยากจริงๆ กับบรรยากาศภายในบ้านนั้นดูขลังดีแท้ ไม่มีแสงจากหลอดไฟส่องสว่าง รับแสงธรรมชาติจากภายนอกเท่านั้น เดินไปเดินมาก็ให้อารมณ์เดียวกับในหนังละครพวกนางทาส สี่แผ่นดินอะไรประมาณนั้นเลย เป็นบ้านท่านเจ้าคุณ หรือ คุณหลวงแบบที่เราๆเห็นกันในโทรทัศน์ชัดๆเลย คุ้มขุนแผนนี้ประกอบไปด้วยหอใหญ่เป็นประธานกลุ่มของบ้านไทยเป็นที่อยู่ของหัวหน้าครอบครัว จะเป็นห้องที่ใหญ่เป็นห้องนอนด้านหน้ามีระเบียงซึ่งจะมีระดับต่ำกว่าพื้นห้อง ซึ่งห้องและระเบียงนั้นเป็นลักษณะสำคัญของเรือนไทย เพราะสามารถปลูกเป็นหมู่ได้หลายหลังเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยชาน ซึ่งจะมีลักษณะต่ำกว่าพื้นเรือนนั้นเอง ข้างๆกันเป็นหอขวา และหอซ้าย เป็นเรือนบริวารของชุดเรือนไทย มีลักษณะเดียวกับหอใหญ่ มีห้องใหญ่และมีระเบียงอยู่ด้านหน้า ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนในครอบครัว เช่น บุตร ธิดา ต่อมาคือ หอหน้า หรือหอนั่ง เป็นเรือนขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านหน้าของกลุ่มเรือนไทยครอบครัวไทยสมัยก่อนนิยมเลี้ยงนกในกรงและแขวนกรงนกไว้บริเวณนี้ จึงมักมีอีกชื่อที่เรียกกันว่า หอนก ส่วนหอกลาง หรือ หอโถง เรือนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งตรงกลางจะนิยมสร้างเป็นเรือนโถง เป็นพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ใช้ทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวเช่น ตั้งสำรับกินข้าว ใช้รับแขก หรือทำบุญ และท้ายสุดก็คือ ครัวไฟ หรือห้องครัวของบ้านนั้นเอง คงมีแค่นี้สำหรับ คุ้มขุนแผน กลุ่มเรือนไทยที่บ้านแสนสุขอยากให้เจียดเวลามาดู เพราะถ้าว่ากันอย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า ถ้าจะเติมให้เต็มกับการเที่ยวเมืองเก่า ชมวัด เที่ยววัง แล้วไม่ดูเรือนไทยด้วยแล้วละก้อ มันไม่ครบรส เหมือนกินน้ำพริกไม่มีผักแกล้ม อารมณ์นั้นเลยสำหรับพวกเรา มาแวะพักผ่อนหย่อนใจหลบแดดในศาลาริมน้ำ กินน้ำกินท่า เข้าห้องน้ำห้องท่าที่นี่ก่อนที่จะไปเที่ยวกันต่อ บ้านแสนสุขเชื่อเหลือเกินว่าเรือนไทยหลังนี้จะช่วยเติมเต็มภาพในอดีต และเพิ่มรสชาติการเที่ยวเมืองเก่าได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญกลุ่มเรือนไทยแบบนี้ไม่ได้หาดูกันง่ายๆนะครับ ก็แวะไปดูกันซักนิดนะครับ
การเดินทาง |